วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

วิธีการจัดการเรียนรู้และเทคนิคจัดการเรียนรู้




    การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ
         1.   การจัดการเรียนรู้แบบบรรยาย (Lecture Method)
         2.   การจัดการเรียนรู้แบบอภิปราย (Discussion Method)
         3.   การจัดการเรียนรู้โดยใช้การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small Group Discussion)
         4.    การจัดการเรียนรู้แบบสาธิต (Demonstration Method)
         5.    การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมุติ (Role Method)
         6.    การจัดการเรียนรู้โดยใช้การแสดงละคร (Dramatization)
         7.    การจัดการเรียนรู้แบบสถานการณ์จำลอง (Simulation)
         8.    การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกม (Game)
         9.    การจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการ (Process)
        10.  การจัดการเรียนรู้โดยกระบวนการสุ่ม (Group Process)
        11.  การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
        12.  การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค TGT (Team Games Tournaments)
        13.  การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค STAD (Student Teams Achievement Divisions)
        14. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค JIGSAW
        15.  การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integration)
        16.  การจัดการเรียนรู้แบบ STORYLINE
        17.  การจัดการเรียนรู้แบบมุ่งประสบการณ์ภาษา (Concentrated Language Encounters)      
        18.   การจัดการเรียนรู้แบบชี้แนะ (Direct Instruction)
        19.  การจัดการเรียนรู้แบบ SQ 3R

การเรียนรู้โดยแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
        20. การจัดการเรียนรู้แบบเอกัตภาพ (Individualized Instruction)  
        21. การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center)
        22. การจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนโปรแกรม(Programmed Instruction)
        23. การจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนโมดูล (Instructional Module)
        24. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอน (Instructional Package)
        25. การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)
        26. การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Method)
        27. การจัดการเรียนรู้โดยการไปทัศนศึกษา (Field Trip)
        28. การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ

การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม
        29. การจัดการเรียนรู้แบบไตรสิกขา
        30. การจัดการเรียนรู้โดยสร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการ
        31. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ค่านิยมให้กระจ่าง
        32. การจัดการเรียนรู้แบบเบญจขันธ์     
        33. การจัดการเรียนรู้ตามขั้นทั้งสี่ของอริยสัจ    
        34. การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสร้างนิสัย
        35. การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจริยธรรม
        36. การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
        37. การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเผชิญสถานการณ์
        38. การจัดการเรียนรู้โดยใช้นิทาน
        39. การจัดการเรียนรู้แบบซักค้าน

การเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด
  40. การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย (Inductive Method)
  41. การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย (Deductive Method)
  42. การจัดการเรียนรู้แบบค้นพบ (Discovery Method)
  43. การจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)
  44. การจัดการเรียนรู้แบบทดลอง (Experimental Method)
  45. การจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา (Problem Solving Method)
  46. การจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหาโดยใช้สาระสนเทศ (Information Problem-Solving Approach)
  47. การจัดการเรียนรู้แบบใช้คำถาม (Question Method)
  48. การจัดการเรียนรู้แบบ KWL (Know-Want-Learned)
  49. การจัดการเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Case Study Method)
  50. การจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ (Creative Teaching)
        51. การจัดการเรียนรู้แบบระดมสมอง (Brainstroming Method)
        52. การจัดการเรียนรู้แบบซินเนคติกส์ (Synectics Method)
        53. การจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ความรู้ (Constructivism)
        54. การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน (Inquiry Method)
        55. การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม (Groub Investigation Method)
        56. การจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT
        57. การจัดการเรียนรู้แบบจัดกรอบมโนทัศน์ (Concept Mapping Techinique)
        58. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ผังความรู้แบบวี (Knowledge Vee Diagramming)
        59. การจัดการเรียนรู้แบบวรรณี (Wannee Teaching Model)
        60. การจัดการเรียนรู้แบบการพยากรณ์ (Forecast or Prediction Method)
        61. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี / สิ่งพิมพ์
        62. การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งวิทยากรในชุมชน
        63. การจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบเรียนสำเร็จรูป
        64. การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)
        65. การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย
        66. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เว็บช่วยสอน
        67. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เว็บเควสท
        68. การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก
        69. การจัดการเรียนรู้โดยการตัดสินใจอย่างฉลาด
        70. การจัดการเรียนรู้โดยการสร้างแผนผังความคิด
        71. การจัดการเรียนรู้แบบซิปปา
  
เทคนิคการจัดการเรียนรู้
        72. เทคนิคการต่อเรื่องราว (Jigsaw)
        73. เทคนิคคู่คิด (Think-Pair-Share)
        74. เทคนิคคู่คิดสี่สหาย (Think-Pair-Share)
        75. เทคนิคคู่ตรวจสอบ (Pair Check)
        76. เทคนิคเล่าเรื่องราว (Roundrobin)
        77. เทคนิคโต๊ะกลม (Roundtable)
        78. เทคนิคการเรียนร่วมกัน (Learning Together)
        79. เทคนิคร่วมกันคิด (Numbered Heads Together)
        80. เทคนิคกลุ่มสืบค้น (GI : Groop Investigation)
        81. เทคนิคการจัดทีมแข่งขัน (TGT : Team Games Tournament)
        82. เทคนิคแบ่งปันความสำเร็จ (STAD : Student Teams Achievement Division)
        83. เทคนิคการสัมภาษณ์ 3 ขั้นตอน (Three Step Interview)
        84. เทคนิคช่วยกันคิดช่วยการเรียน (TAI : Team Assited Individualization)
        85. เทคนิคการเรียนรู้แบบวิธีการติดต่อภาพ รูปแบบที่1 (Jigsaw 1)
        86. เทคนิคการเรียนรู้แบบวิธีการติดต่อภาพ รูปแบบที่2 (Jigsaw 2)
        87. เทคนิคการเรียนรู้แบบ CO-OP  CO-OP


สรุปรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เทคนิคและวิธีสอน


จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสรุปได้ว่าการจัดการเรียนรู้ เทคนิคและวิธีสอนมีหลากหลายรูปแบบ ที่ได้รวบรวมมามี 87 รูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการสอน ขั้นตอนการสอน และวิธีการนำไปใช้แตกต่างกัน แต่ทุกรูปแบบมีวัตถุประสงค์เหมือนกันคือเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเนื้อหาอย่างมากที่สุด ครูผู้สอนจะต้องจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคและวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาที่สอน เหมาะกับระดับความสามารถและความสนใจของผู้เรียน


ที่มา

 สุวิทย์ มูลคำอรทัย มูลคำ.(2545).วิธีการจัดการเรียนรู้19 วิธีการจัดการเรียนรู้:เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ. (พิมพ์
ครั้งที่ 1)กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การพิมพ์.
สุวิทย์ มูลคำอรทัย มูลคำ.(2545).วิธีการจัดการเรียนรู้20 วิธีการจัดการเรียนรู้:เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ. (พิมพ์ครั้งที่ 2)
กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การพิมพ์.
สุวิทย์ มูลคำอรทัย มูลคำ.(2545).วิธีการจัดการเรียนรู้21 วิธีการจัดการเรียนรู้:เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ. (พิมพ์ครั้งที่ 3)
กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การพิมพ์ประกาศิต อานุภาพแสนยากร.(2559)เอกสารคำสอน รายวิชา การจัดการเรียนรู้ 
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ 2559.

การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)

การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตนเอง และส่วนรวม เพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด จึงขอนำเสนอในแต่ละหัวข้อดังนี้

ความหมายของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
จิราภรณ์ ศิริทวี (2542 :33-38) ได้ให้ความหมายการเรียนแบบร่วมมือว่า หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการร่วมมือ ร่วมแรงกันระหว่างสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ความสำเร็จของทุกคนขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของสมาชิก
วัฒนาพร ระงับทุกข์ (2542 :34) ให้ความหมาย การเรียนแบบกลุ่มร่วมมือเป็นวิธีการจัดการกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้แก่ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน โดยที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการเรียนรู้และในความสำเร็จของกลุ่ม ทั้งโดยการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น การแบ่งปันทรัพยากรการเรียนรู้ รวมทั้งกรเป็นกำลังใจแก่กันและกัน คนที่เรียนเก่งจะช่วยเหลือคนที่อ่อนกว่า สมาชิกในกลุ่มไม่เพียงแต่รับผิดชอบต่อการเรียนของตนเองเท่านั้นหากแต่จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเพื่อนสมาชิกทุกคนในกลุ่ม
ทิศนา แขมมณี (2548 :42) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบร่วมมือ มีหลายรูปแบบซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการหลัก ได้แก่ การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนนและระบบการให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ต่างก็มีวัตถุประสงค์ในทิศทางเดียวกันคือ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุด โดยอาศัยการร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน และแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่ม ความแตกต่างจะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระ วิธีการเสริมแรง


หลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ
ทิศนา แขมมณี (2548 : 49) ได้อธิบายถึงหลักการเรียนแบบร่วมมือไว้ว่า หลักการเรียนรู้แบบร่วมมือผู้เรียนควรร่วมมือในการเรียนรู้มากกว่าการแข่งขันซึ่งมีหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการดังนี้
1. การเรียนรู้ต้องอาศัยหลักการพึ่งพาอาศัยกัน กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ จะต้องตระหนักว่าทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกันและจะต้องพึ่งพากัน เพื่อความสำเร็จร่วมกัน ดังนั้นทุกคนต้องรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตนและในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่มด้วยเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
2. การเรียนรู้ที่ดีต้องอาศัยการหันหน้าเข้าหากัน มีปฏิสัมพันธ์กัน การที่สมาชิกในกลุ่มมีการพึ่งพาอาศัยกัน เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลและการเรียนรู้ต่าง ๆ สมาชิกในกลุ่มจะห่วงใย ไว้วางใจ ส่งเสริมและช่วยเหลือกันในการทำงานต่าง ๆ ร่วมกัน ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
3. การเรียนรู้ร่วมกันต้องอาศัยทักษะทางสังคม การที่สมาชิกในกลุ่มต้องทำงานร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การทำงานจะประสมผลสำเร็จได้ต้องอาศัยทักษะที่สำคัญ ๆ เช่น ทักษะการทำงานกลุ่ม ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งการยอมรับไว้วางใจกันและกันงานจึงจะดำเนินไปได้
4. การเรียนรู้กันควรมีการวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ จะต้องมี การวิเคราะห์กระบวนการทำงานของกลุ่มเพื่อช่วยให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น เช่น การวิเคราะห์วิธีการทำงานของกลุ่มพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มและผลงานของกลุ่ม
5. การเรียนรู้ร่วมกันจะต้องมีผลงาน หรือผลสัมฤทธิ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มที่สามารถตรวจสอบและวัดประเมินได้ (Individual Accountability) สมาชิกในกลุ่มการเรียนรู้ทุกคนจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ และพยายามทำงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถไม่มีใครที่จะได้รับผลประโยชน์โดยที่จะไม่ทำหน้าที่ของตน ดังนั้นกลุ่มจึงจำเป็นต้องตรวจสอบผลงาน ทั้งที่เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม อาจจัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือจับคู่ เพื่อจะได้มีโอกาสเอาใจกันและกัน การสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในกลุ่ม

องค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
สุวิทย์ มูลคำ (2546 : 56) ได้สรุปองค์ประกอบสำคัญดังนี้
1. การมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในทางบวก (Positive Interdependence) หมายถึง การที่สมาชิกในกลุ่มมีการทางานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน มีการแข่งขันมีการใช้วัสดุอุปกรณ์และข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกัน มีบทบาทหน้าที่และประสบความสำเร็จร่วมกัน รวมทั้งได้รับผลประโยชน์หรือรางวัลโดยเท่าเทียมกัน
2. การปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างการทำงานกลุ่ม (Face to Face Promotion Interaction) เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อธิบายความรู้ให้แก่เพื่อนสมาชิกในกลุ่มฟัง และมีการให้ข้อมูลย้อนกลับซึ่งกันและกัน
3. การตรวจสอบความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน (Individual Accountability) เป็นกิจกรรมที่ตรวจเช็คทดสอบให้มั่นใจสมาชิกมีความรับผิดชอบต่องานกลุ่ม หรือไม่ เพียงใด โดยสามารถที่จะทดสอบเป็นรายบุคคล เช่น การสังเกต การทำงาน การสุ่มถาม ปากเปล่า เป็นต้น
4. การใช้ทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interdependence and Small Group Skills) ในการเรียนรู้แบบร่วมมือนี้เพื่อให้งานกลุ่มประสบความสำเร็จ ผู้เรียนควรจะได้รับการฝึกฝนทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่ม เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเป็นผู้นำทักษะการตัดสินใจ การแก้ปัญหา และทักษะการทำงานกลุ่ม เป็นต้น
5. กระบวนการกลุ่ม (Group Process) เป็นกระบวนการทางานที่มีขั้นตอน ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะต้องทำความเข้าใจในเป้าหมายการทำงาน มีการวางแผน ดำเนินงานตามแผน ประเมินผลงานและปรับปรุงงานร่วมกัน
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 122) กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้ว่า ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในการให้ผู้เรียนทำงานกลุ่ม ดังข้อต่อไปนี้
1. มีการพึ่งพาอาศัยกัน (Positive Interdependence) หมายถึง สมาชิกในกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกัน มีส่วนรับความสำเร็จร่วมกัน ใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน มีบทบาทหน้าที่ทุกคนทั่วกัน ทุกคนมีความรู้สึกว่างานจะสำเร็จได้ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
2. มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในเชิงสร้างสรรค์ (Face to Face Promotive Interaction) หมายถึง สมาชิกกลุ่มได้ทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด เช่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อธิบายความรู้แก่กัน ถามคำถาม ตอบคำถามกันและกัน ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน
3. มีการตรวจสอบความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน (IndividualAccountability) เป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องตรวจสอบว่า สมาชิกทุกคนมีความรับผิดชอบต่องานกลุ่มหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เช่น การสุ่มถามสมาชิกในกลุ่ม สังเกตและบันทึกการทำงานกลุ่ม ให้ผู้เรียนอธิบายสิ่งที่ตนเรียนรู้ให้เพื่อนฟัง ทดสอบรายบุคคล เป็นต้น
4. มีการฝึกทักษะการช่วยเหลือกันทำงานและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interdependence and Small Groups Skills) ผู้เรียนควรได้ฝึกทักษะที่จะช่วยให้งานกลุ่มประสบความสำเร็จ เช่น ทักษะการสื่อสาร การยอมรับและช่วยเหลือกัน การวิจารณ์ความคิดเห็น โดยไม่วิจารณ์บุคคล การแก้ปัญหาความขัดแย้ง การให้ความช่วยเหลือ และการเอาใจใส่ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การทำความรู้จักและไว้วางใจผู้อื่น เป็นต้น
5. มีการฝึกกระบวนการกลุ่ม (Group Process) สมาชิกต้องรับผิดชอบต่อการทำงานของกลุ่ม ต้องสามารถประเมินการทำงานของกลุ่มได้ว่า ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะเหตุใด ต้องแก้ไขปัญหาที่ใด และอย่างไร เพื่อให้การทำงานกลุ่มมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม เป็นการฝึกกระบวนการกลุ่มอย่างเป็นกระบวนการ


ประเภทของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
ทิศนา แขมมณี (2545 : 102) ได้อธิบายถึงประเภทของกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้ว่า กลุ่มการเรียนรู้ที่ใช้กันโดยทั่วไปมี 3 ประเภท ดังนี้
1. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างเป็นทางการ (Formal Cooperative) กลุ่มประเภทนี้ครูจัดขึ้นโดยการวางแผน จัดระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีการและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ร่วมมือกันเรียนรู้สามารถต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอาจเป็นหลาย ๆ ชั่วโมงติดต่อกัน หลายสัปดาห์จนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่กำหนด
2. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือแบบไม่เป็นทางการ (Informal Cooperative) กลุ่มประเภทนี้จัดขึ้นชั่วคราว เฉพาะกิจ โดยสอดแทรกการสอนปกติ โดยเฉพาะการสอนแบบบรรยาย ครูสามารถจัดกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือสอดแทรกเข้าไปเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมุ่งความสนใจ
3. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร (Cooperative Base Groups) กลุ่มประเภทนี้เป็นกลุ่มการเรียนรู้ที่สมาชิกกลุ่มมีประสบการณ์การทำงานและการเรียนรู้รวมกันมานานจนกระทั่งเกิดความสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น สมาชิกกลุ่มมีความผูกพันห่วงใย ช่วยเหลือกันและกันอย่างต่อเนื่อง

รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
ทิศนา แขมมณี (2548 : 102) ได้อธิบายถึงรูปแบบการเรียนรู้การสอนแบบร่วมมือว่า รูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือมีหลายรูปแบบจะมีวิธีการหลัก ๆ ซึ่งได้แก่ การจัดกลุ่มการศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนน และระบบการให้รางวัล แตกต่างกันออกไปเพื่อสนองวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต่างก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ หลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการและมีวัตถุประสงค์มุ่งตรงไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุดโดยอาศัยการร่วมกัน ช่วยเหลือกันและแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน ความแตกต่างของรูปแบบแต่ละรูปจะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระและวิธีการเสริมแรงและการให้รางวัล รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือที่นิยมใช้ทั่วไปในปัจจุบันมี 8 รูปแบบดังนี้
1. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบจิ๊กซอร์ (JIG - SAW) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มและความสามารถ (เก่ง - กลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คน กลุ่มนี้เรียกว่า กลุ่มบ้าน(Home-group) มอบหมายเนื้อหาให้ข้อย่อยแตกต่างกันแล้ว กลับไปกลุ่มที่มีเนื้อหาเดียวกัน เรียกว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เมื่อศึกษาเนื้อหาอย่างละเอียดก็กลับไปกลุ่มบ้านสอนเพื่อนในกลุ่มในเรื่องสาระของตน สมาชิกของกลุ่มได้รายละเอียดของเนื้อหาทั้งหมดและทดสอบ นำคะแนนทดสอบรายบุคคลมารวมกันหาค่าเฉลี่ยเป็นคะแนนของกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับรางวัล
2. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ เอส.ที.เอ.ดี (STAD) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละกันตามความสามารถ (เก่ง - กลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คนเรียนว่า กลุ่มบ้านของเราสมาชิกในกลุ่มรับเนื้อหาสาระศึกษาร่วมกันเป็นหลายตอนและสมาชิกในกลุ่มทำแบบทดสอบแต่ละตอนเก็บคะแนนไว้แล้วหาค่าเฉลี่ยของตนไว้ สมาชิกทดสอบรวมยอดครั้งสุดท้าย เอาคะแนนรวมยอดลบคะแนนเฉลี่ยก็จะได้คะแนนเฉลี่ย คะแนนพัฒนาการมารวมกันในกลุ่ม กลุ่มใดได้คะแนนสูงได้รับรางวัล
3. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ แอล.ที (LT) (Learning Together) จัดกลุ่มผู้เรียน เข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง - ปานกลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คน ศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกันโดยกำหนดบทบาทให้แต่ละคนมีหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มในการเรียนรู้ กลุ่มสรุปคำตอบร่วมกันส่งคำตอบเป็นผลงานของกลุ่ม ผลงานกลุ่มได้คะแนนเท่าไร สมาชิกทุกคนในกลุ่มนั้นจะได้คะแนนเท่ากันทุกคนในการทำกิจกรรมครั้งนี้ได้ใช้เทคนิคการเรียนรู้รูปแบบแอล.ที (LT)
4. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ จี.ไอ (G.I) (Group Investigation) รูปแบบนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนช่วยกันสืบค้นข้อมูลมาใช้ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีขั้นตอนเริ่มจากจัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง - ปานกลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คน ศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกัน โดยแบ่งหัวข้อย่อยให้สมาชิกไปศึกษาหาคำตอบ โดยให้ผู้เรียนอ่อนเลือกก่อนเมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็มาให้กลุ่ม กลุ่มอภิปรายร่วมกัน สรุปผลการศึกษา นำเสนอหน้าชั้น
5. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ที.เอ.ไอ (TAI) (Team Assisted Individualization) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-ปานกลาง-อ่อน) เรียกกลุ่ม “บ้านของเรา” สมาชิกในกลุ่มได้รับเนื้อหาสาระศึกษาร่วมกัน และสมาชิกจับคู่ทำแบบฝึกหัดแล้วใครทำแบบฝึกหัดได้ 75% ไปรับการทดสอบรวบยอด นักเรียนไม่ช่วยเหลือกัน คนที่ซ่อมต้องช่วยจนทำได้จึงจะได้จึงจะได้ทดสอบรวบยอด เพื่อแต่ละกลุ่มแข่งขันเสร็จ เอาคะแนนสมาชิกของตนมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม
6. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ที.จี.ที (TGT) (Team Games Tournament) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-ปานกลาง-อ่อน) กลุ่มละ 4 คน เรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มบ้านของเรา สมาชิกในบ้านรับเนื้อหาสาระศึกษาร่วมกัน สมาชิกในกลุ่มแยกย้ายไปแข่งขันกับกลุ่มอื่นตามความสามารถคือ คนเก่งแข่งกับคนเก่ง คนอ่อนแข่งกับคนอ่อน และรวมคะแนนของตนได้ตามโบนัสที่กำหนด เมื่อแต่ละกลุ่มแข่งขันเสร็จเอาคะแนนสมาชิกของตนมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม
7. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ซี.ไอ.อาร์.ซี (CIRC) (Co-operative Integrated Reading and Composition) เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ใช้สอนอ่านและเขียน โดยเฉพาะมีขั้นตอนดังนี้ แบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถในการอ่าน สมาชิกในกลุ่มมี 4 คน มีพื้นความรู้เท่ากัน 2 คน อีก 2 คน แตกต่างกัน ครูจะเรียกคู่ที่มีระดับความรู้เท่ากันมาสอนให้กลับเข้ากลุ่มแล้วเรียกคู่ต่อไปที่มีความรู้ต่างกันมาสอน และทดสอบรายบุคคลคะแนนที่ได้เป็นทั้งรายบุคคลและทีม
8. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Instruction) รูปแบบนี้คล้ายคลึงกันรูปแบบ จี.ไอ ซึ่งมีขั้นตอนคือ จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-ปานกลาง-อ่อน) กลุ่มรับเนื้อหาสาระมาร่วมกันไปศึกษาสืบค้นโดยสมาชิกรับเนื้อหาตามความสามารถให้คนอ่อนเลือกเนื้อหาก่อน เมื่อแต่ละคนศึกษาเนื้อหาแล้ว กลับเข้ากลุ่มเอาคำตอบให้กลุ่มร่วมกันอภิปราย และสรุปผลการศึกษา เสนอผลงานหน้าชั้น

ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
          1. คิดและคุยกัน (Think Pairs Share), เพื่อนเรียน(Partners), ผลัดกันพูด(Say and Switch) ทั้ง 3 รูปแบบเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่คล้ายคลึงกัน ให้นักเรียนจับคู่กันในการตอบคำถาม อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ หรือทำความเข้าใจเนื้อหาที่เป็นความคิดรวบยอดที่กำหนดให้
2. กิจกรรมโต๊ะกลม (Roundtable หรือ Roundrobin)
เป็นรูปแบบการสอนที่จัดกลุ่มนักเรียนที่มีจำนวนมากกว่า 2 คนขึ้นไป เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคน เขียนความคิดเห็นของตน บอกเล่าประสบการณ์ความรู้ หรือสิ่งที่ตนกำลังศึกษาให้เพื่อนคนที่อยู่ถัดไปโดยเวียนไปทางด้านใดด้านหนึ่ง สมาชิกทุกคนจะใช้เวลาเท่าๆกันหรือใกล้เคียง
3. คู่ตรวจสอบ (Pairs Check), มุมสนทนา(Corners), ร่วมกันคิด(Numbered Heads together)เป็นรูปแบบการสอนที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ให้ช่วยกันตอบคำถาม แก้โจทย์ปัญหา หรือทำแบบฝึกหัด เมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มย่อยสามารถตอบปัญหา หรือแก้โจทย์ได้แล้ว ให้แลกเปลี่ยนกันตรวจสอบคำตอบ โดยการจับคู่ตรวจสอบ หรือจัดมุมสนทนา

                                                     ที่มา ; https://www.gotoknow.org/posts/209790 

สรุปการจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ หมายถึง การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นการจัดการเรียนรู้ที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ สมาชิกในกลุ่มแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสนุกสนานในการเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่มร่วมมือ ทำให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ นักเรียนมีความรับผิดชอบทั้งในส่วนตนและส่วนรวม ทั้งยังเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในชั้นเรียนและเพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือจะประสบผลสำเร็จได้นั้นสมาชิกแต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อกลุ่มโดยจะต้องช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและในการทำงานร่วมกันสมาชิกต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันยอมรับไว้วางใจกัน รวมทั้งมีการตรวจสอบผลงานของสมาชิกในกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
การเรียนรู้แบบร่วมมือนั้นมีองค์ประกอบ 5 ประการด้วยกัน คือ
1. มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยสมาชิกแต่ละคนมีเป้าหมายในการทำงานกลุ่มร่วมกันซึ่งจะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อความสำเร็จของการทำงานกลุ่ม
2. มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในเชิงสร้างสรรค์ เป็นการให้สมาชิกได้ร่วมกันทำงานกลุ่มกันอย่างใกล้ชิด โดยการเสนอและแสดงความคิดเห็นกันของสมาชิกภายในกลุ่ม ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน
3. มีความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน หมายความว่า สมาชิกภายในกลุ่มแต่ละคนจะต้องมีความรับผิดในการทำงาน โดยที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความมั่นใจ และพร้อมที่จะได้รับการทดสอบ เป็นรายบุคคล
4. มีการใช้ทักษะกระบวนการกลุ่มย่อย ทักษะระหว่างบุคคล และทักษะการทำงานกลุ่มย่อย นักเรียนควรได้รับการฝึกฝนทักษะเหล่านี้ก่อน เพราะเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ เพื่อให้นักเรียนจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. มีการใช้กระบวนการกลุ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการวางแผนปฏิบัติงานและเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน โดยจะต้องดำเนินงานตามแผนตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน
วิธีเรียนแบบร่วมมือที่มีวิธีการหลักๆ ที่แตกต่างกัน เช่น การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนน ระบบการให้รางวัล แต่ไม่ว่าการเรียนรู้แบบร่วมมือรูปแบบใดก็จะมีหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ


ที่มา
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. 2543. เอกสารชุดเทคนิคการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด การจัดการเรียนรู้แบบ
           ร่วมมือ. โรงพิมพ์การศาสนา กรมศาสนา.กรุงเทพฯ.
กระทรวงศึกษาธิการ. (2543). เอกสารชุดเทคนิคการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุดการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา กรมศาสนา.
วัฒนาพร ระงับทุกข์. (2542). แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ :ไทยวัฒนาพานิช.