วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)

การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตนเอง และส่วนรวม เพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด จึงขอนำเสนอในแต่ละหัวข้อดังนี้

ความหมายของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
จิราภรณ์ ศิริทวี (2542 :33-38) ได้ให้ความหมายการเรียนแบบร่วมมือว่า หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการร่วมมือ ร่วมแรงกันระหว่างสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ความสำเร็จของทุกคนขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของสมาชิก
วัฒนาพร ระงับทุกข์ (2542 :34) ให้ความหมาย การเรียนแบบกลุ่มร่วมมือเป็นวิธีการจัดการกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้แก่ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน โดยที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการเรียนรู้และในความสำเร็จของกลุ่ม ทั้งโดยการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น การแบ่งปันทรัพยากรการเรียนรู้ รวมทั้งกรเป็นกำลังใจแก่กันและกัน คนที่เรียนเก่งจะช่วยเหลือคนที่อ่อนกว่า สมาชิกในกลุ่มไม่เพียงแต่รับผิดชอบต่อการเรียนของตนเองเท่านั้นหากแต่จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเพื่อนสมาชิกทุกคนในกลุ่ม
ทิศนา แขมมณี (2548 :42) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบร่วมมือ มีหลายรูปแบบซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการหลัก ได้แก่ การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนนและระบบการให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ต่างก็มีวัตถุประสงค์ในทิศทางเดียวกันคือ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุด โดยอาศัยการร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน และแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่ม ความแตกต่างจะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระ วิธีการเสริมแรง


หลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ
ทิศนา แขมมณี (2548 : 49) ได้อธิบายถึงหลักการเรียนแบบร่วมมือไว้ว่า หลักการเรียนรู้แบบร่วมมือผู้เรียนควรร่วมมือในการเรียนรู้มากกว่าการแข่งขันซึ่งมีหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการดังนี้
1. การเรียนรู้ต้องอาศัยหลักการพึ่งพาอาศัยกัน กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ จะต้องตระหนักว่าทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกันและจะต้องพึ่งพากัน เพื่อความสำเร็จร่วมกัน ดังนั้นทุกคนต้องรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตนและในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่มด้วยเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
2. การเรียนรู้ที่ดีต้องอาศัยการหันหน้าเข้าหากัน มีปฏิสัมพันธ์กัน การที่สมาชิกในกลุ่มมีการพึ่งพาอาศัยกัน เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลและการเรียนรู้ต่าง ๆ สมาชิกในกลุ่มจะห่วงใย ไว้วางใจ ส่งเสริมและช่วยเหลือกันในการทำงานต่าง ๆ ร่วมกัน ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
3. การเรียนรู้ร่วมกันต้องอาศัยทักษะทางสังคม การที่สมาชิกในกลุ่มต้องทำงานร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การทำงานจะประสมผลสำเร็จได้ต้องอาศัยทักษะที่สำคัญ ๆ เช่น ทักษะการทำงานกลุ่ม ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งการยอมรับไว้วางใจกันและกันงานจึงจะดำเนินไปได้
4. การเรียนรู้กันควรมีการวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ จะต้องมี การวิเคราะห์กระบวนการทำงานของกลุ่มเพื่อช่วยให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น เช่น การวิเคราะห์วิธีการทำงานของกลุ่มพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มและผลงานของกลุ่ม
5. การเรียนรู้ร่วมกันจะต้องมีผลงาน หรือผลสัมฤทธิ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มที่สามารถตรวจสอบและวัดประเมินได้ (Individual Accountability) สมาชิกในกลุ่มการเรียนรู้ทุกคนจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ และพยายามทำงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถไม่มีใครที่จะได้รับผลประโยชน์โดยที่จะไม่ทำหน้าที่ของตน ดังนั้นกลุ่มจึงจำเป็นต้องตรวจสอบผลงาน ทั้งที่เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม อาจจัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือจับคู่ เพื่อจะได้มีโอกาสเอาใจกันและกัน การสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในกลุ่ม

องค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
สุวิทย์ มูลคำ (2546 : 56) ได้สรุปองค์ประกอบสำคัญดังนี้
1. การมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในทางบวก (Positive Interdependence) หมายถึง การที่สมาชิกในกลุ่มมีการทางานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน มีการแข่งขันมีการใช้วัสดุอุปกรณ์และข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกัน มีบทบาทหน้าที่และประสบความสำเร็จร่วมกัน รวมทั้งได้รับผลประโยชน์หรือรางวัลโดยเท่าเทียมกัน
2. การปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างการทำงานกลุ่ม (Face to Face Promotion Interaction) เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อธิบายความรู้ให้แก่เพื่อนสมาชิกในกลุ่มฟัง และมีการให้ข้อมูลย้อนกลับซึ่งกันและกัน
3. การตรวจสอบความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน (Individual Accountability) เป็นกิจกรรมที่ตรวจเช็คทดสอบให้มั่นใจสมาชิกมีความรับผิดชอบต่องานกลุ่ม หรือไม่ เพียงใด โดยสามารถที่จะทดสอบเป็นรายบุคคล เช่น การสังเกต การทำงาน การสุ่มถาม ปากเปล่า เป็นต้น
4. การใช้ทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interdependence and Small Group Skills) ในการเรียนรู้แบบร่วมมือนี้เพื่อให้งานกลุ่มประสบความสำเร็จ ผู้เรียนควรจะได้รับการฝึกฝนทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่ม เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเป็นผู้นำทักษะการตัดสินใจ การแก้ปัญหา และทักษะการทำงานกลุ่ม เป็นต้น
5. กระบวนการกลุ่ม (Group Process) เป็นกระบวนการทางานที่มีขั้นตอน ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะต้องทำความเข้าใจในเป้าหมายการทำงาน มีการวางแผน ดำเนินงานตามแผน ประเมินผลงานและปรับปรุงงานร่วมกัน
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 122) กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้ว่า ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในการให้ผู้เรียนทำงานกลุ่ม ดังข้อต่อไปนี้
1. มีการพึ่งพาอาศัยกัน (Positive Interdependence) หมายถึง สมาชิกในกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกัน มีส่วนรับความสำเร็จร่วมกัน ใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน มีบทบาทหน้าที่ทุกคนทั่วกัน ทุกคนมีความรู้สึกว่างานจะสำเร็จได้ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
2. มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในเชิงสร้างสรรค์ (Face to Face Promotive Interaction) หมายถึง สมาชิกกลุ่มได้ทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด เช่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อธิบายความรู้แก่กัน ถามคำถาม ตอบคำถามกันและกัน ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน
3. มีการตรวจสอบความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน (IndividualAccountability) เป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องตรวจสอบว่า สมาชิกทุกคนมีความรับผิดชอบต่องานกลุ่มหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เช่น การสุ่มถามสมาชิกในกลุ่ม สังเกตและบันทึกการทำงานกลุ่ม ให้ผู้เรียนอธิบายสิ่งที่ตนเรียนรู้ให้เพื่อนฟัง ทดสอบรายบุคคล เป็นต้น
4. มีการฝึกทักษะการช่วยเหลือกันทำงานและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interdependence and Small Groups Skills) ผู้เรียนควรได้ฝึกทักษะที่จะช่วยให้งานกลุ่มประสบความสำเร็จ เช่น ทักษะการสื่อสาร การยอมรับและช่วยเหลือกัน การวิจารณ์ความคิดเห็น โดยไม่วิจารณ์บุคคล การแก้ปัญหาความขัดแย้ง การให้ความช่วยเหลือ และการเอาใจใส่ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การทำความรู้จักและไว้วางใจผู้อื่น เป็นต้น
5. มีการฝึกกระบวนการกลุ่ม (Group Process) สมาชิกต้องรับผิดชอบต่อการทำงานของกลุ่ม ต้องสามารถประเมินการทำงานของกลุ่มได้ว่า ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะเหตุใด ต้องแก้ไขปัญหาที่ใด และอย่างไร เพื่อให้การทำงานกลุ่มมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม เป็นการฝึกกระบวนการกลุ่มอย่างเป็นกระบวนการ


ประเภทของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
ทิศนา แขมมณี (2545 : 102) ได้อธิบายถึงประเภทของกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้ว่า กลุ่มการเรียนรู้ที่ใช้กันโดยทั่วไปมี 3 ประเภท ดังนี้
1. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างเป็นทางการ (Formal Cooperative) กลุ่มประเภทนี้ครูจัดขึ้นโดยการวางแผน จัดระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีการและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ร่วมมือกันเรียนรู้สามารถต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอาจเป็นหลาย ๆ ชั่วโมงติดต่อกัน หลายสัปดาห์จนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่กำหนด
2. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือแบบไม่เป็นทางการ (Informal Cooperative) กลุ่มประเภทนี้จัดขึ้นชั่วคราว เฉพาะกิจ โดยสอดแทรกการสอนปกติ โดยเฉพาะการสอนแบบบรรยาย ครูสามารถจัดกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือสอดแทรกเข้าไปเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมุ่งความสนใจ
3. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร (Cooperative Base Groups) กลุ่มประเภทนี้เป็นกลุ่มการเรียนรู้ที่สมาชิกกลุ่มมีประสบการณ์การทำงานและการเรียนรู้รวมกันมานานจนกระทั่งเกิดความสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น สมาชิกกลุ่มมีความผูกพันห่วงใย ช่วยเหลือกันและกันอย่างต่อเนื่อง

รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
ทิศนา แขมมณี (2548 : 102) ได้อธิบายถึงรูปแบบการเรียนรู้การสอนแบบร่วมมือว่า รูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือมีหลายรูปแบบจะมีวิธีการหลัก ๆ ซึ่งได้แก่ การจัดกลุ่มการศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนน และระบบการให้รางวัล แตกต่างกันออกไปเพื่อสนองวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต่างก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ หลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการและมีวัตถุประสงค์มุ่งตรงไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุดโดยอาศัยการร่วมกัน ช่วยเหลือกันและแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน ความแตกต่างของรูปแบบแต่ละรูปจะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระและวิธีการเสริมแรงและการให้รางวัล รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือที่นิยมใช้ทั่วไปในปัจจุบันมี 8 รูปแบบดังนี้
1. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบจิ๊กซอร์ (JIG - SAW) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มและความสามารถ (เก่ง - กลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คน กลุ่มนี้เรียกว่า กลุ่มบ้าน(Home-group) มอบหมายเนื้อหาให้ข้อย่อยแตกต่างกันแล้ว กลับไปกลุ่มที่มีเนื้อหาเดียวกัน เรียกว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เมื่อศึกษาเนื้อหาอย่างละเอียดก็กลับไปกลุ่มบ้านสอนเพื่อนในกลุ่มในเรื่องสาระของตน สมาชิกของกลุ่มได้รายละเอียดของเนื้อหาทั้งหมดและทดสอบ นำคะแนนทดสอบรายบุคคลมารวมกันหาค่าเฉลี่ยเป็นคะแนนของกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับรางวัล
2. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ เอส.ที.เอ.ดี (STAD) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละกันตามความสามารถ (เก่ง - กลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คนเรียนว่า กลุ่มบ้านของเราสมาชิกในกลุ่มรับเนื้อหาสาระศึกษาร่วมกันเป็นหลายตอนและสมาชิกในกลุ่มทำแบบทดสอบแต่ละตอนเก็บคะแนนไว้แล้วหาค่าเฉลี่ยของตนไว้ สมาชิกทดสอบรวมยอดครั้งสุดท้าย เอาคะแนนรวมยอดลบคะแนนเฉลี่ยก็จะได้คะแนนเฉลี่ย คะแนนพัฒนาการมารวมกันในกลุ่ม กลุ่มใดได้คะแนนสูงได้รับรางวัล
3. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ แอล.ที (LT) (Learning Together) จัดกลุ่มผู้เรียน เข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง - ปานกลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คน ศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกันโดยกำหนดบทบาทให้แต่ละคนมีหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มในการเรียนรู้ กลุ่มสรุปคำตอบร่วมกันส่งคำตอบเป็นผลงานของกลุ่ม ผลงานกลุ่มได้คะแนนเท่าไร สมาชิกทุกคนในกลุ่มนั้นจะได้คะแนนเท่ากันทุกคนในการทำกิจกรรมครั้งนี้ได้ใช้เทคนิคการเรียนรู้รูปแบบแอล.ที (LT)
4. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ จี.ไอ (G.I) (Group Investigation) รูปแบบนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนช่วยกันสืบค้นข้อมูลมาใช้ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีขั้นตอนเริ่มจากจัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง - ปานกลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คน ศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกัน โดยแบ่งหัวข้อย่อยให้สมาชิกไปศึกษาหาคำตอบ โดยให้ผู้เรียนอ่อนเลือกก่อนเมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็มาให้กลุ่ม กลุ่มอภิปรายร่วมกัน สรุปผลการศึกษา นำเสนอหน้าชั้น
5. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ที.เอ.ไอ (TAI) (Team Assisted Individualization) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-ปานกลาง-อ่อน) เรียกกลุ่ม “บ้านของเรา” สมาชิกในกลุ่มได้รับเนื้อหาสาระศึกษาร่วมกัน และสมาชิกจับคู่ทำแบบฝึกหัดแล้วใครทำแบบฝึกหัดได้ 75% ไปรับการทดสอบรวบยอด นักเรียนไม่ช่วยเหลือกัน คนที่ซ่อมต้องช่วยจนทำได้จึงจะได้จึงจะได้ทดสอบรวบยอด เพื่อแต่ละกลุ่มแข่งขันเสร็จ เอาคะแนนสมาชิกของตนมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม
6. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ที.จี.ที (TGT) (Team Games Tournament) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-ปานกลาง-อ่อน) กลุ่มละ 4 คน เรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มบ้านของเรา สมาชิกในบ้านรับเนื้อหาสาระศึกษาร่วมกัน สมาชิกในกลุ่มแยกย้ายไปแข่งขันกับกลุ่มอื่นตามความสามารถคือ คนเก่งแข่งกับคนเก่ง คนอ่อนแข่งกับคนอ่อน และรวมคะแนนของตนได้ตามโบนัสที่กำหนด เมื่อแต่ละกลุ่มแข่งขันเสร็จเอาคะแนนสมาชิกของตนมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม
7. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ซี.ไอ.อาร์.ซี (CIRC) (Co-operative Integrated Reading and Composition) เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ใช้สอนอ่านและเขียน โดยเฉพาะมีขั้นตอนดังนี้ แบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถในการอ่าน สมาชิกในกลุ่มมี 4 คน มีพื้นความรู้เท่ากัน 2 คน อีก 2 คน แตกต่างกัน ครูจะเรียกคู่ที่มีระดับความรู้เท่ากันมาสอนให้กลับเข้ากลุ่มแล้วเรียกคู่ต่อไปที่มีความรู้ต่างกันมาสอน และทดสอบรายบุคคลคะแนนที่ได้เป็นทั้งรายบุคคลและทีม
8. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Instruction) รูปแบบนี้คล้ายคลึงกันรูปแบบ จี.ไอ ซึ่งมีขั้นตอนคือ จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-ปานกลาง-อ่อน) กลุ่มรับเนื้อหาสาระมาร่วมกันไปศึกษาสืบค้นโดยสมาชิกรับเนื้อหาตามความสามารถให้คนอ่อนเลือกเนื้อหาก่อน เมื่อแต่ละคนศึกษาเนื้อหาแล้ว กลับเข้ากลุ่มเอาคำตอบให้กลุ่มร่วมกันอภิปราย และสรุปผลการศึกษา เสนอผลงานหน้าชั้น

ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
          1. คิดและคุยกัน (Think Pairs Share), เพื่อนเรียน(Partners), ผลัดกันพูด(Say and Switch) ทั้ง 3 รูปแบบเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่คล้ายคลึงกัน ให้นักเรียนจับคู่กันในการตอบคำถาม อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ หรือทำความเข้าใจเนื้อหาที่เป็นความคิดรวบยอดที่กำหนดให้
2. กิจกรรมโต๊ะกลม (Roundtable หรือ Roundrobin)
เป็นรูปแบบการสอนที่จัดกลุ่มนักเรียนที่มีจำนวนมากกว่า 2 คนขึ้นไป เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคน เขียนความคิดเห็นของตน บอกเล่าประสบการณ์ความรู้ หรือสิ่งที่ตนกำลังศึกษาให้เพื่อนคนที่อยู่ถัดไปโดยเวียนไปทางด้านใดด้านหนึ่ง สมาชิกทุกคนจะใช้เวลาเท่าๆกันหรือใกล้เคียง
3. คู่ตรวจสอบ (Pairs Check), มุมสนทนา(Corners), ร่วมกันคิด(Numbered Heads together)เป็นรูปแบบการสอนที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ให้ช่วยกันตอบคำถาม แก้โจทย์ปัญหา หรือทำแบบฝึกหัด เมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มย่อยสามารถตอบปัญหา หรือแก้โจทย์ได้แล้ว ให้แลกเปลี่ยนกันตรวจสอบคำตอบ โดยการจับคู่ตรวจสอบ หรือจัดมุมสนทนา

                                                     ที่มา ; https://www.gotoknow.org/posts/209790 

สรุปการจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ หมายถึง การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นการจัดการเรียนรู้ที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ สมาชิกในกลุ่มแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสนุกสนานในการเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่มร่วมมือ ทำให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ นักเรียนมีความรับผิดชอบทั้งในส่วนตนและส่วนรวม ทั้งยังเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในชั้นเรียนและเพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือจะประสบผลสำเร็จได้นั้นสมาชิกแต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อกลุ่มโดยจะต้องช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและในการทำงานร่วมกันสมาชิกต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันยอมรับไว้วางใจกัน รวมทั้งมีการตรวจสอบผลงานของสมาชิกในกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
การเรียนรู้แบบร่วมมือนั้นมีองค์ประกอบ 5 ประการด้วยกัน คือ
1. มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยสมาชิกแต่ละคนมีเป้าหมายในการทำงานกลุ่มร่วมกันซึ่งจะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อความสำเร็จของการทำงานกลุ่ม
2. มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในเชิงสร้างสรรค์ เป็นการให้สมาชิกได้ร่วมกันทำงานกลุ่มกันอย่างใกล้ชิด โดยการเสนอและแสดงความคิดเห็นกันของสมาชิกภายในกลุ่ม ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน
3. มีความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน หมายความว่า สมาชิกภายในกลุ่มแต่ละคนจะต้องมีความรับผิดในการทำงาน โดยที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความมั่นใจ และพร้อมที่จะได้รับการทดสอบ เป็นรายบุคคล
4. มีการใช้ทักษะกระบวนการกลุ่มย่อย ทักษะระหว่างบุคคล และทักษะการทำงานกลุ่มย่อย นักเรียนควรได้รับการฝึกฝนทักษะเหล่านี้ก่อน เพราะเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ เพื่อให้นักเรียนจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. มีการใช้กระบวนการกลุ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการวางแผนปฏิบัติงานและเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน โดยจะต้องดำเนินงานตามแผนตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน
วิธีเรียนแบบร่วมมือที่มีวิธีการหลักๆ ที่แตกต่างกัน เช่น การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนน ระบบการให้รางวัล แต่ไม่ว่าการเรียนรู้แบบร่วมมือรูปแบบใดก็จะมีหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ


ที่มา
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. 2543. เอกสารชุดเทคนิคการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด การจัดการเรียนรู้แบบ
           ร่วมมือ. โรงพิมพ์การศาสนา กรมศาสนา.กรุงเทพฯ.
กระทรวงศึกษาธิการ. (2543). เอกสารชุดเทคนิคการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุดการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา กรมศาสนา.
วัฒนาพร ระงับทุกข์. (2542). แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ :ไทยวัฒนาพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น